เชิญชม ปรากฏการณ์จันทร์เต็มดวง 31 ส.ค.นี้
รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยว่า ปกติแล้วปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวง (Full Moon) จะเกิดขึ้นเพียงเดือนละ 1 ครั้งเท่านั้น
หากเดือนไหนที่มีดวงจันทร์เต็มดวง 2 ครั้ง จะเรียกดวงจันทร์เต็มดวงในครั้งที่สองว่า “บลูมูน” หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า “Once in a blue moon”ที่หมายถึง นานๆ จะเห็นสักครั้ง เปรียบได้กับคำว่า Rarely ในภาษาอังกฤษ
ปรากฏการณ์บลูมูน เกิดขึ้นเนื่องจากใน 1 ปี มี 12 เดือน และบางเดือนมี 30 วัน บางเดือนมี 31 วัน แต่ว่ารอบของดวงจันทร์มีเพียง 29.53059 วันต่อเดือน และใน 1 ศตวรรษ จะมีทั้งหมด 1,200 เดือน โดยจะเกิดดวงจันทร์เต็มดวงได้ถึง 1236.83 ครั้ง แต่จะเป็นบลูมูนแค่ 36.83 ครั้ง เฉลี่ยแล้วประมาณ 2.72 ปีต่อครั้ง หรือประมาณ 3% ของฟูลมูน จะเป็นบลูมูน แต่ที่พิเศษกว่านั้น คือ จะมีการเกิดบลูมูน ปีละ 2 ครั้ง ในทุกๆ 19 ปี ซึ่งปีล่าสุดที่เกิดบลูมูน 2 ครั้งซ้อนในหนึ่งปี (Double Blue Moons) ก็คือปี พ.ศ. 2542 และครั้งต่อไปในปี พ.ศ. 2561
การเกิดบลูมูน ในรอบทุกๆ 2.72 ปีต่อครั้ง และจะเกิดขึ้นในปี 2555 วันที่ 31 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ เราสามารถเห็นดวงจันทร์เต็มดวง ทิศตะวันออกเฉียงใต้ เวลาประมาณ 18.18 น. โดยดวงจันทร์เต็มดวงอย่างสมบูรณ์เวลาประมาณ 20.57 น. และตกทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ในเช้าของวันที่ 1 กันยายน 2555 เวลาประมาณ 05.37 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยดวงจันทร์จะมีสีสว่างกว่าเดิม แต่จะไม่เปลี่ยนสีเป็นสีน้ำเงินแต่อย่างใด และเรายังสามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์ Blue Moon ครั้งต่อไปได้ในวันที่ 2 ก.ค. 2558